เมื่อต้องพาน้องหมาเดินเล่นในหมู่บ้าน

เมื่อต้องพาน้องหมาเดินเล่นในหมู่บ้าน
     นอกจากความรักและความเอาใจใส่ที่เจ้าของต้องมีให้กับสัตว์เลี้ยงอย่างสุนัข  เพื่อนผู้จงรักภักดีแล้ว การหาเวลาพาน้องหมาออกมาเดินเล่นนอกบ้าน เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมกระชับความสัมพันธ์ได้เป็นอย่างดี บางคนอาจคิดว่าเลี้ยงสุนัขไม่เคยขังกรง ปล่อยให้วิ่งเล่นอย่างเป็นอิสระในบริเวณบ้าน ก็ไม่จำเป็นต้องพาออกไปเดินเล่นนอกบ้านก็ได้ แต่ในทางกลับกันถ้าเป็นเราที่ต้องอยู่แต่ในบ้าน  ไม่ได้ออกมาสูดอากาศดีๆ เห็นความเขียวขจีของต้นไม้ใบหญ้า ก็คงจะเหี่ยวเฉาไม่แพ้กันแต่ก่อนจะพาพี่หมาน้องหมาออกจากบ้านไม่ใช่แค่การพาเขาออกมาวิ่ง  คุณต้องไม่ลืมว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณและสุนัขก้าวออกนอกรั้วบ้าน ข้อปฏิบัติของการใช้พื้นที่ส่วนกลางจะเกิดขึ้นทันที  เรื่องนี้คุณจึงต้องเตรียมความพร้อมเพราะบริเวณโดยรอบหมู่บ้านคือพื้นที่ส่วนกลางที่สมาชิกในหมู่บ้านจะออกมาใช้ประโยชน์ร่วมกัน  ทั้งสวนสาธารณะ ทะเลสาบ หรือแม้แต่ริมฟุตบาท  ดังนั้นเพื่อรักษามิตรภาพที่ดีกับเพื่อนบ้านเราควรคำนึงถึงกฎกติกา และมารยาทของการอยู่ร่วมกันในสังคม
 
เตรียมสายจูง อุปกรณ์สำคัญที่ขาดไม่ได้ 
ควรเลือกขนาดที่เหมาะสมกับตัวเอง  ตัวใหญ่สายใหญ่  ตัวเล็กสายเล็ก  ที่สำคัญ  คนจูงควรมีกำลังพอที่จะฉุดสุนัขหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด เช่น สุนัขตกใจวิ่งหนี  หรือเริ่มมีทีท่าไม่ดีกับคนแปลกหน้า โดยเฉพาะเจ้าของที่เลี้ยงสุนัขสายพันธุ์ที่ค่อนข้างดุร้ายและหงุดหงิดง่าย  การจูงไปเดินในสวนสาธารณะที่มีเด็กวิ่งเล่นเยอะๆ  ยิ่งต้องระมัดระวัง
 
ถุงพลาสติกหรือถุงกระดาษ
สำหรับเก็บก้อนอุจจาระที่น้องหมาถ่ายทิ้งไว้ เพราะคงไม่ดีแน่ถ้าปล่อยให้สิ่งนี้ทำลายทัศนียภาพ  รวมทั้งกลิ่นที่ไปรบกวนเพื่อนบ้านคนอื่นๆ นอกจากความสกปรกแล้ว  ยังส่งผลเสียด้านสุขอนามัยด้วย และถ้าน้องหมาฉี่รดเสาไฟฟ้า หรือต้นไม้ควรเตรียมน้ำสะอาดมาราดทำความสะอาดเพื่อไม่ให้มีกลิ่นฟุ้งกระจายรบกวนผู้อื่น
 
นอกจากการพาสุนัขออกมาใช้พื้นที่ส่วนกลางของหมู่บ้านแล้ว  อีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่เรียกได้ว่าเป็นวาระของหมู่บ้าน นั่นก็คือ สุนัขส่งเสียงเห่าหอนรบกวนเพื่อนบ้าน เราสามารถหยุดปัญหานี้ได้ เพียงแค่ต้องใจเย็นและค่อยๆ ฝึกน้องหมา โดยเริ่มจากเมื่อเห็นสุนัขเริ่มเห่าสิ่งต่างๆ รอบตัว ให้ผู้เลี้ยงใช้วิธีนิ่งเฉยและเบี่ยงเบนความสนใจของสุนัข เช่น เคาะประตู หรือเคาะสิ่งของที่อยู่ใกล้ๆ เพื่อให้สุนัขตกใจ เมื่อสุนัข
หยุดเห่าให้พูดคำว่า  “พอแล้ว”  และเอ่ยชม เช่น “ดีมาก” พร้อมกับตบที่ต้นคอน้องหมาเบาๆ  และให้รางวัลเป็นขนมที่สุนัขชื่นชอบ ซึ่งการฝึกสุนัขไม่ให้เห่าพร่ำเพรื่อควรทำตั้งแต่สุนัขยังเป็นเด็กจะดีที่สุด เมื่อสุนัขโตมาปัญหานี้ก็จะไม่เกิดขึ้น
 
นอกเหนือจากที่ผู้เลี้ยงจะต้องใส่ใจดูแลสุนัขของตัวเองให้อยู่อย่างสงบไม่สร้างความเดือดร้อนและเป็นภาระให้กับเพื่อนบ้านแล้ว สิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งก็คือ การพูดคุย การรับฟังความคิดเห็นจากเพื่อนบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงเพื่อสานสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน